เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 มิ.ย. ที่โรงแรมดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า จัดประชุมชี้แจงเรื่องเทคนิคและรูปแบบท่าเทียบเรือ (Technical Hearing) โครงการงานศึกษาสำรวจออกแบบท่าต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน กรุงเทพฯ เนื่องจากที่ผ่านมา การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ (Cruise) มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันประเทศไทย บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน มีท่าเรือสำราญที่สายการเดินเรือสำราญ สามารถเข้ามาแวะพักทางทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้เพียง 2 ท่า คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง
ขณะเดียวกันพบว่าเรือสำราญมาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 500 เที่ยวต่อปี ซึ่งแต่ละท่ามีข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่กำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความจำเป็น ในการให้บริการที่รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัย และได้มาตรฐานระดับสากล ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวทางน้ำของการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สู่มาตรฐานสากล รวมทั้งการสร้างรายได้ในการนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ไทย
นายวรรณชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน จท. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาการพัฒนาท่าเรือสำราญ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ประกอบด้วย บริษัท ซี สเปคตรัม จำกัด จำกัด, สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์, บริษัท เช้าท์สท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ไพร้ชวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอฟ ศึกษาโครงการฯ ใช้งบศึกษา 68 ล้านบาท เริ่มศึกษาต้นปี 64 จนถึงปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อม คาดศึกษาแล้วเสร็จปลายปี 66
หลังจากศึกษาโครงการฯแล้วเสร็จ จทคำพูดจาก สล็อตเว็บตรง. จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบโครงการภายในปี 66 ก่อนนำกลับมาดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี ภายในปี 67 และเริ่มเปิดประมูลภายในปี 68 เริ่มก่อสร้างปี 69 คาดแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 72 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี
นายวรรณชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้โครงการฯ มีวงเงิน 7,412 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลงทุนก่อสร้าง 5,934 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 1,478 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานนอกชายฝั่งและบนชายฝั่ง ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือและอาคารผู้โดยสาร, สะพานเชื่อมท่าเรือ, ลานจอดรถ และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินถนนลอยฟ้า จำนวน 5,534 ล้านบาท คิดเป็น 66% ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ประกอบด้วย ระบบสาธารณูปโภค และอุปกรณ์ จำนวน 1,877 ล้านบาท คิดเป็น 34% นอกจากนี้จากการศึกษาฯ พบว่าโครงการฯ มีผลตอบแทนทางการเงินดังนี้ อัตราผลตอบแทนภายใน 20% โดยมีระยะเวลาคืนทุน 10 ปี
สำหรับผลการศึกษาทำเลที่ตั้งของท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณอ่าวไทยตอนบน พบว่า ทำเลที่ตั้งที่ของโครงการ ควรกำหนดจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือต้นทาง หรือท่าเรือแวะพักอื่นๆ ได้ รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้คราวละมากๆ และที่สำคัญ คือจำเป็นต้องมีความลึกท้องน้ำเพียงพอที่จะรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้ ซึ่งพบว่า บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี จะเป็นทำเลที่มีศักยภาพมากที่สุด
ทั้งนี้จากการศึกษาประเภทของท่าเรือเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน พบว่า ในการพัฒนาท่าเรือสำราญนั้น แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ท่าเรือต้นทาง 2.ท่าเรือแวะพัก และ 3.ท่าเรือผสม คือเป็นทั้งท่าเรือต้นทางและท่าเรือแวะพัก พบว่า ท่าเรือสำราญพัทยา เหมาะสมที่จะเป็นท่าเรือผสม (Hybrid) คือ เป็นทั้งท่าเรือต้นทาง (Home Port) และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of Call) สำหรับท่าเทียบเรือ สามารถรองรับเรือสำราญพร้อมกันได้ 2 ลำ จนถึงเรือสำราญขนาดใหญ่ ส่วนภายในอาคารพักผู้โดยสาร ในกรณีที่เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คน/ชั่วโมง และในกรณีที่เป็นท่าเรือแวะพัก (Port of Call) สามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 3,500-4,000 คน/ชั่วโมง
โครงการนี้จะพัฒนาที่จอดรถยนต์ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อทางบกไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ในกรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ และบริเวณรอบเมืองพัทยา รวมทั้งพัฒนาที่จอดเรือโดยสาร และเรือเร็ว เพื่อเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่างๆ ซึ่งจะได้เห็นรูปแบบของการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ เมืองพัทยา ในลำดับต่อไป